ในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 และเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก จนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานว่าโรคนี้มีปัญหาต่อเส้นผมโดยตรง แต่เราพบว่าในผู้ป่วยโรคโควิด-19 หลาย ๆ คนมีปัญหาผมร่วงเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่หายป่วยไปแล้ว 3-4 เดือน ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวไวรัสโดยตรง แต่เป็นผลพวงจากการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับร่างกายจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้ ที่เป็นอาการที่พบได้ปกติจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 โดยทางการแพทย์มีชื่อเรียกภาวะนี้ว่า Telogen Effluvium (TE)
ในสภาวะปกติ เส้นผมของคนเรามีวงจรชีวิตที่จะเดินหน้าเข้าสู่ระยะต่าง ๆ ตามลำดับ เริ่มต้นจากระยะที่มีการเจริญเติบโตและงอกยาว (anagen phase) โดยในระยะนี้เฉลี่ยอยู่นาน 5-7 ปี ต่อจากนั้นจะเข้าสู่ระยะก่อนการพักหรือหลุดร่วง (catagen phase) ที่จะอยู่นาน 1-2 สัปดาห์ และเข้าสู่ระยะพักและหลุดร่วง (telogen phase) ที่จะอยู่นานประมาณ 100 วัน จากนั้นก็จะเข้าสู่ระยะการเจริญเติบโตและงอกยาวใหม่อีกครั้ง วนเป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
ในภาวะ TE นี้ เส้นผมบนหนังศีรษะจะเข้าสู่ระยะพักหรือหลุดร่วงในจำนวนที่มากกว่าปกติพร้อม ๆ กัน โดยผมจะร่วงหลังจากที่ความเจ็บป่วยต้นเหตุได้ผ่านไปแล้วประมาณ 3-4 เดือน และสามารถมีอาการผมร่วงได้นานถึง 6 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่ผมที่ร่วงไปก็จะค่อย ๆ งอกกลับมาใหม่อีกครั้ง และกลับมามีผมเหมือนตอนก่อนเจ็บป่วยในระยะเวลา 6-9 เดือน
แต่ในบางคนที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคโควิด-19 หรือเป็นไข้ก็อาจมีปัญหาผมร่วงได้เช่นกัน เนื่องจากความเครียดหรือความกังวล (ยิ่งในปัญหาโรคระบาดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) ก็สามารถทำให้เกิด TE ได้ มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Psychogenic Effluvium พอมาเห็นผมร่วงเพิ่มมากขึ้นก็อาจยิ่งเครียดไปมากกว่าเดิมได้อีก ฉะนั้นอย่าลืมที่จะจัดการความเครียดให้น้อยลง เพราะเมื่อไม่เครียด ผมก็หยุดร่วง แต่สำหรับใครที่ประสบปัญฆาศีรษะล้าน-เถิก สามารถติดต่อเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับการปลูกผมได้ที่นี่