หลาย ๆ คนได้ถามหมอเข้ามาว่า การทานอาหารแบบไหนทำให้ผมร่วง แบบไหนทำให้ผมแข็งแรง จริง ๆ คำถามนี้เป็นคำถามที่เหมือนจะง่าย แต่มีความน่าสนในตัวของมันเองอยู่นะครับ เพราะแต่ละคนต้องการสารอาหารแต่ละอย่างไม่เหมือนกันสักทีเดียว ไม่ว่าจะทั้งปริมาณหรือประเภทก็ตาม บทความนี้จะเป็นภาพรวม เป็นสิ่งที่หมอได้พูดคุยกับนักกำหนดอาหารมาครับ
อาหารประเภทใดส่งเสริมให้สุขภาพผมดี?
จริง ๆ แล้ว การทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่นั้นสำคัญที่สุดนะครับ และอย่าลืมทานวิตามิน รวมถึงแร่ธาตุต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ไบโอติน (Biotin) ที่จัดอยู่ในกลุ่มวิตามินบีที่ส่งผลต่อเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเส้นผมหรือผิวหนังก็ตาม ไบโอตินยังสามารถเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้างผมได้อีกด้วย สามารถทานได้จากไข่แดง หรือเนื้อสัตว์สีแดง (เช่น เนื้อหมู หรือเนื้อวัว) และอย่าลืมทานแร่ธาตุต่าง ๆ (Trace element) หรือก็คือแร่ธาตุที่ไม่ต้องการจำนวนมากต่อวัน เช่น ธาตุเหล็ก ซีลีเนียม สังกะสี เป็นต้น ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้ช่วยให้เซลล์ที่มีการแบ่งตัวบ่อย ๆ ทำงานได้เป็นปกติ ไม่ใช่แค่บำรุงผมนะครับ เราควรทานวิตามินให้ครบถ้วน หากไม่รู้ว่าเราควรทานอะไร ก็ลองไปตรวจเช็คว่าเราขาดวิตามินตัวไหนหรือไม่ หมออยากจะเน้นย้ำว่าคนเราแต่ละคน ไม่มีใครเหมือนกันเลยครับ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีเพื่อน ๆ หรือคนรู้จักให้เราทานวิตามินตัวนี้ ตัวนั้น เพราะว่าดี ทำให้ผมแข็งแรง ดก ดำ หนา แต่พอเราทานไปกลับไม่ได้ผลลัพธ์แบบนั้น อาจจะเพราะว่าเราไม่ได้ขาดวิตามินดังกล่าวนั่นเองนะครับ ถึงตรงนี้หมออยากจะแถมเรื่อง DHI Advance หรือก็คือการปลูกผมที่ออกแบบให้เหมาะสมสำหรับคนไข้เป็นรายบุคคลนะครับ สนใจอ่าน อาหาร บำรุงผม
อาหารประเภทใดควรหลีกเลี่ยง?
หลาย ๆ คนเคยได้ยินเรื่องอาหารขยะ (Junk food) หรือก็คืออาหารที่ให้พลังงานสูงแต่ให้สารอาหารน้อย (high calorie, low nutrients) ทำให้เราได้รับแต่พลังงาน ไม่ได้รับสารอาหารที่จะเข้าไปบำรุงร่างกายเรา ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้สุขภาพผมไม่ดี แต่สุขภาพโดยรวมก็ไม่ดีไปด้วยนะครับ
ในส่วนของการทานผงชูรสแล้วจะทำให้ผมร่วงนั้นยังไม่มีรายงานการศึกษาทางการแพทย์ที่ชัดเจนครับ หลาย ๆ เรื่องเป็นการโยงมาจากผลการศึกษาที่เกิดขึ้นในหนูทดลอง และก็ถูกโยงไปสู่เรื่องที่ไม่ดีต่อสุขภาพต่าง ๆ มากมาย สรุปด้วยข้อมูลที่มีในปัจจุบันก็คือกินผงชูรสบ้างก็ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรมาก แต่การกินมากไปนั้นไม่น่าจะดีต่อสุขภาพแน่ ๆ ครับ
ขอขอบคุณ คุณนิค-พิศิษฐ์ คณาศิริชัยนนท์ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ
บทความในวันนี้ต้องขอบคุณ คุณนิค-พิศิษฐ์ คณาศิริชัยนนท์ ที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับสารอาหารต่าง ๆ รวมถึงการจัดมื้ออาหารนะครับ หมออยากจะแนะนำเรื่องนักกำหนดอาหารสักเล็กน้อย นักกำหนดอาหาร หรือ Dietitian เป็นผู้ที่จะนำความรู้ทางด้านอาหารและโภชนาการมากำหนดปริมาณอาหารและสารอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะร่างกายและปัญหาของคนไข้แต่ละราย และสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับคนไข้ จนสามารถเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมเป็นรายบุคคล เพราะถ้าหากผู้ป่วยได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสมกับสภาวะโรคของคนไข้ จะมีความต่างกันนักโภชนาการตรงที่ว่า นักกำหนดอาหารจะดูเป็นรายคนเสียส่วนใหญ่ เพื่อจัดมื้ออาหารให้เป็นไปได้ และได้รับสารอาหารที่ควรได้รับอย่างเหมาะสมครับ